วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

คนค้นตำรา

ยังจำ "เพื่อนวัยเด็ก" ของเราได้ไหมความสนุกสนาน ที่มีอยู่ในโลกอันไร้ขอบเขตแห่งจินตนาการ ความบริสุทธิ์
ไร้เดียงสาที่ไม่ต้องอาศัยการปั้นแต่ง สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดกลายมาเป็น "ความทรงจำ" อันแสนสุขที่เดินทางแวะเวียนมาให้รางวัลกับเราทุกครั้งเมื่อยามคิดถึงวันเวลาในอดีต มานะ มานี ปิติ ชูใจ ตัวละครเก่า ๆ ในแบบเรียนภาษาไทยยุคก่อน ก็เป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่เปรียบเสมือนเป็นชิ้นส่วนของอดีตชิ้นเล็ก ๆ ที่ทำให้ใครหลายคนอมยิ้มได้อยู่เสมอมานะ มานี ปิติ ชูใจ เพื่อนเก่าในวัยเด็กของคนในยุคปี พ.ศ. 2521 ถึง 2537 คือตัวละครที่มาทักทายสร้างความรู้จักกับพวกเราตั้งแต่ แรกเข้าเรียนประถม 1 จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรักความผูกพัน ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครเหล่านั้น ช่วยเติมแต่งจินตนาการให้พวกเขากลายมาเป็น "เพื่อน" สมัยประถมของเด็กนับล้านคนพวกเขาเติบโตขึ้นตามวัยทุกปีพร้อม ๆ กับเรา เรื่องราวสนุกสนานที่ได้อ่าน กลายเป็นความทรงจำอันแสนประทับใจที่ยากจะลืมเลือนหลายสิบปีผ่านไป อยากรู้ไหมว่า เพื่อนเก่าของพวกเราเติบโตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างมานะ มานี ยังคงน่ารัก มองโลกในแง่ดี หรือจะกลายเป็นหนุ่มสาวยุคใหม่ผู้แคล่วคล่องเจ้าโต และสีเทา จะยังมีชีวิตอยู่หรือจากลาพวกเราไปแล้วตามกาลเวลา

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมไม่เคยได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่เคยได้ยินคนเขาพูดถึงกันบ่อยๆ ของผมน่าจะเก่ากว่านั้น ผมเรียน "สุดา คาวี" กับ "นกกางเขน" ครับ

    เผลอบอกไปแล้ว เลยรู้กันหมดเลยว่าแก่

    เอามาฝากครับ (เสียดายที่ post ภาพไม่ได้)
    อันนี้เกี่ยวกับหนังสือ สุดา คาวี
    นายอภัย จันทวิมล อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของแบบเรียนชุดนี้ไว้ ความว่า :

    " ... เมื่อเริ่มปฏิบัติงานตามโครงการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทราในปี ๒๔๙๔ มิสเตอร์ โธมัส วิลสัน หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญขององค์การศึกษาฯ สหประชาชาติ ซึ่งประจำอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ได้ปรารภแก่ข้าพเจ้าว่า ในการสอนอ่านสำหรับเด็กเริ่มเรียนนั้น ควรมีหนังสือแบบสอนอ่านอย่างง่าย ๆ ที่สอนให้เด็กอ่านเป็นคำสักชุดหนึ่ง ทำนองหนังสือชุด Janet and John ซึ่งใช้ในประเทศนิวซีแลนด์ ข้าพเจ้าจึงได้พยายามถอดหนังสือชุดนั้นออกเป็นภาษาไทย โดยดัดแปลงจากต้นฉบับเดิมตามที่ข้าพเจ้าเห็นสมควร ในที่สุด ได้หนังสือเล่มเล็ก ๆ ๔ เล่ม ซึ่งข้าพเจ้าให้ชื่อว่า หนังสือชุด สุดากับคาวี

    เล่ม ๑ ให้ชื่อว่า "มาดูอะไร"
    เล่ม ๒ ให้ชื่อว่า "ไปเล่นด้วยกัน"
    เล่ม ๓ ให้ชื่อว่า "ออกไปข้างนอก"
    เล่ม ๔ ให้ชื่อว่า "ฉันออกจากบ้าน"

    หนังสือชุดนี้ได้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๔ จำนวนเล่มละ ๒,๐๐๐ ฉบับ สำหรับใช้ในราชการตามโครงการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทรา โดยโครงการข้อ ๔ ของประธานาธิบดีทรูแมน เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ให้ ในการนี้ มิสเตอร์ โธมัส วิลสัน ได้แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า ได้ติดต่อกับบริษัท Row Peterson ซึ่งเป็นเจ้าของต้นฉบับหนังสือชุด Janet and John แล้ว ทางบริษัทไม่ขัดข้องในการที่องค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทราจะพิมพ์หนังสือชุดนี้ขึ้นเพื่อใช้ในราชการ ..."

    (คำนำหนังสือชุด สุดากับคาวี ฉบับพิมพ์ของโรงพิมพ์คุรุสภา ปี พ.ศ.๒๕๐๐)

    ผมว่านี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นนะครับว่า คนเก่าๆ เขาคิดถูก เพราะโดยปกติแล้ว สมองมนุษย์ไม่ได้อ่านหนังสือโดยการสะกดคำ แต่อ่านแบบจำเป็นภาพมากกว่า

    ส่วนอันนี้เป็นข้อมูลของหนังสือ "นกกางเขน" ครับ
    ผู้แต่ง: นายกี่ กีรติ วิทโยลาร
    รายละเอียด: หนังสือเรื่อง "นกกางเขน" เป็นหนังสือนิยายประกอบภาพ ที่เคยใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มาตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก เป็นหนังสือที่สอนให้เด็กรักธรรมชาติ มีความกรุณาต่อสัตว์ และปลูกฝังให้เด็กรักและเข้าใจพ่อแม่ ตลอดจนเข้าใจวิถีชีวิตในภายภาคหน้าเมื่อตนต้องพ้นจากอ้อมอกของพ่อแม่สู่โลกและสังคมภายนอกด้วย

    ด้วยแก่นเรื่องที่ชัดเจน และการใช้ภาษาง่าย ๆ แต่สละสลวยกินใจ ทำให้ "นกกางเขน" เป็นหนังสือแบบเรียนอีกเล่มหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้ผู้อ่านมาทุกยุคทุกสมัยจวบจนปัจจุบัน

    ได้รับการคัดเลือกจากคณะผู้วิจัยของ สกว. ให้เป็นหนึ่งใน 100 เล่มหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน


    เรื่องนี้จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก ผมอ่านแล้วน้ำตาซืมเลย สงสารนกกางเขนที่โดนเด็กเกเรเอาหนังสติ๊กยิง

    ว่าแต่เด็กสมัยนี้เขาอ่านอะไรกันนะ

    ตอบลบ